10 วิธีเติมน้ำมันให้คุ้มค่าที่สุด

เนื่องด้วยปัจจุบันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ประกอบกับต้องนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศโดยส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อรถคุณน้ำมันใกล้หมด แล้วกำลังจะเข้ารถเข้าปั้มเพื่อเติมน้ำมัน อย่าเพิ่งรีบร้อน ทาง ID Driver สถาบันสอนขับรถ ต่อใบขับขี่ เรียนขับรถ มีสาระดีๆ มาฝากก่อนเติมน้ำมันครั้งต่อไปค่ะ

1. เติมประเภทน้ำมันฯ ให้เหมาะกับรถคุณ 

ไม่ว่ารถคุณจะเป็นรุ่น ปี ซีซี เท่าไหร่ ในคู่มือการใช้รถรุ่นนั้นๆ จะระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ให้เติมน้ำมันชนิดใดได้บ้าง และควรเติมตามที่คู่มือได้ระบุไว้เสมอๆ เช่น คู่มือระบุให้เติมเบนซินแก๊สโซฮอล 91, เบนซิน 91 ก็ไม่ควรไปเติม เบนซิน 95 หรือ เบนซินแก๊สโซฮอล 95 เพราะเครื่องยนต์ออกแบบมาให้ใช้ค่าออกเทนเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นหากเติมค่าออกเทนเกินจากกำหนด จะสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์นะครับ และขณะเดียวกันราคาต่อลิตรถูกกว่า ได้จำนวนลิตรมากขึ้นอีกนิดครับ ในกรณีคู่มือระบุให้เติมออกเทน 95 ขึ้นไป ก็จำเป็นต้องเติมตามนั้นค่ะ หากเติมออกเทนต่ำกว่า อาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้ โดยส่วนมากในกลุ่ม ECO CAR และกลุ่ม รถเก๋ง เครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี มักจะระบุว่า เบนซิน 91 ขึ้นไป นั้นก็หมายถึงว่าสามารถเติมเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ได้ด้วย

1. เติมประเภทน้ำมันฯ ให้เหมาะกับรถคุณ 

ไม่ว่ารถคุณจะเป็นรุ่น ปี ซีซี เท่าไหร่ ในคู่มือการใช้รถรุ่นนั้นๆ จะระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ให้เติมน้ำมันชนิดใดได้บ้าง และควรเติมตามที่คู่มือได้ระบุไว้เสมอๆ เช่น คู่มือระบุให้เติมเบนซินแก๊สโซฮอล 91, เบนซิน 91 ก็ไม่ควรไปเติม เบนซิน 95 หรือ เบนซินแก๊สโซฮอล 95 เพราะเครื่องยนต์ออกแบบมาให้ใช้ค่าออกเทนเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นหากเติมค่าออกเทนเกินจากกำหนด จะสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์นะครับ และขณะเดียวกันราคาต่อลิตรถูกกว่า ได้จำนวนลิตรมากขึ้นอีกนิดค่ะ ในกรณีคู่มือระบุให้เติมออกเทน 95 ขึ้นไป ก็จำเป็นต้องเติมตามนั้นค่ะ หากเติมออกเทนต่ำกว่า อาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้ โดยส่วนมากในกลุ่ม ECO CAR และกลุ่ม รถเก๋ง  เครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี มักจะระบุว่า เบนซิน 91 ขึ้นไป นั้นก็หมายถึงว่าสามารถเติมเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ได้ด้วย

2. อย่าให้น้ำมันเหลือต่ำกว่า 1 ใน 4 ของถัง หรือจนไฟเตือนแล้วค่อยเติม 

การเติมน้ำมันเมื่อน้ำมันเหลือต่ำกว่า 1 ใน 4 ของถัง ทำให้คุณจะต้องเติมชดเชยในส่วนที่เหลือก้นถัง และในระบบท่อทางเดินต่างๆ กว่าจะเติมก็หลายลิตร (5-10 โดยประมาณ) และใช้เวลานาน ระหว่างนั้นจะเกิดการระเหยของน้ำมันออกมาเป็นไอสู่อากาศภายนอกตรงบริเวณปากถังที่คุณเติมนั่นแหละครับ ยิ่งนานก็ระเหยมากขึ้นเรื่อยๆ (เว้นกรณีหาปั๊มไม่ได้จนน้ำมันจะหมดแล้วก็จำเป็นนะคะ) และเมื่อระดับน้ำมันในถังลดต่ำลงพื้นที่จะถูกแทนด้วยอากาศ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการระเหยของน้ำมันฯ ออกทางรูระบายอากาศของถังน้ำมันฯ มากขึ้นอีกด้วยค่ะ

3. เลือกปั๊มน้ำมันที่มีชนิดของน้ำมันตรงตามกับที่คุณต้องการเติม 

บางครั้งคุณอาจมองข้ามสิ่งเล็กๆ นี้ไป เมื่อทราบแล้วว่าจะเติมน้ำมันชนิดใด ก็ต้องทราบว่าปั๊มไหน หรือสถานีบริการแห่งใดมีน้ำมันชนิดที่คุณต้องการด้วย เช่น เติม E20 ก็ควรเลือกปั๊มที่มีบริการ เพราะบางยี่ห้อ หรือแม้แต่ยี่ห้อเดียวกัน บางแห่งก็อาจไม่มีน้ำมันชนิดนั้นก็ได้ค่ะ ช่วยประหยัดเวลาในการขับหาปั๊มแห่งอื่นๆ และลดการสิ้นเปลืองด้วยค่ะ

4. หากเป็นไปได้ควรเลือกเติมน้ำมันช่วงกลางคืน อากาศเย็นๆ 

ที่จริงแล้วก็ไม่มีความแตกต่างมากเท่าไรระหว่างอุณหภูมิต่ำหรือสูง เนื่องจากถังเก็บน้ำมันส่วนมากอยู่ใต้ดิน แต่อุณหภูมิจะมีผลเมื่อน้ำมันถูกดูดขึ้นมา ก่อนที่จะเข้าหัวจ่ายและเข้าสู่ถังน้ำมันรถเรานั่นเองครับ ยิ่งอากาศเย็นปริมาตรก็ยิ่งมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็แตกต่างจากการเติมในเวลาที่อากาศร้อนๆ สัก 0.5 – 1.5 ลิตรเลยนะครับ เช่น เติมน้ำมัน 1 ลิตรที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จะมีน้ำหนักประมาณ 0.87 กิโลกรัม แต่น้ำมัน 1 ลิตรที่ 33 องศา จะมีน้ำหนักเพียง 0.79 กิโลกรัม (*ข้อมูลตัวอย่างจากรายการ เรื่องต้องรู้ ช่อง 7 สี)

5. ควรเติมถังตามที่หัวจ่ายน้ำมันตัดอัตโนมัติ 

ไม่จำเป็นว่าทุกครั้งที่เติมน้ำมันจะต้องจนล้นถึงคอถัง เพราะจะยิ่งทำให้น้ำมันระเหยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ และควรเติมน้ำมันโดยปรับอัตราการไหลของหัวจ่ายให้ไหลอย่างช้าๆ เช่น หากเลือกปั๊มแบบเติมเองก็ควรบีบหัวจ่ายกลางๆ ส่วนถ้าเป็นปั๊มแบบมีพนักงานเติมให้ข้อนี่คงทำได้ยากหน่อย สุดท้ายเมื่อเติมจนหัวจ่ายตัดแล้ว ควรรีบบอกพนักงานให้ปิดฝาถัง เพราะบางครั้ง พนักงานบริการรถคันอื่นๆ อยู่ และปล่อยให้หัวจ่ายคาถังเอาไว้นานๆ ลักษณะนี้จะทำให้น้ำมันฯ ระเหยออกสู่ภายนอก และอาจเกิดอันตรายจากประกายไฟอีกด้วยค่ะ

6. ให้บัตรเครดิตช่วยคุณประหยัด 

หากคุณเป็นผู้ถือบัตรเครดิตต่างๆ ให้ลองหาข้อมูลคร่าวๆ ว่าใช้บัตรไหนได้ส่วนลดน้ำมัน หรือเงินคืนส่วนต่างสูงสุด ข้อนี้เหมาะกับผู้ที่ใช้บัตรเครดิตในการรูดจ่ายค่าน้ำมันฯ เป็นประจำ นอกจากความสะดวกสบายแล้ว อย่าลืมเช็คสิทธิประโยชน์ใบบัตรที่คุณถืออยู่ให้มากที่สุดนะคะ

7. หมั่นติดตามข่าวสารด้านราคาน้ำมันเป็นระยะ 

การติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เราสามารถกำหนดการใช้น้ำมันของเราได้ คือ เมื่อราคาน้ำมันปรับลดลง เราก็ควรจะเติมเผื่อเอาไว้ เพราะในคราวต่อไปเมื่อราคาน้ำมันปรับขึ้น เราจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควรจะเป็นค่ะ

8. ไม่ควรเติมน้ำมันฯ ในปั๊มที่กำลังมีการถ่ายเทจากรถขนส่งน้ำมันฯ ลงในถังเก็บใต้ดิน 

น้ำมันส่วนที่เติมลงไปจะทำให้ตะกอนที่นอนก้นถังเก็บลอยขึ้นมา คลุ้งกับน้ำมันทั้งหมดในถัง และเมื่อคุณเติมเวลานั้น ปั๊มดูดที่หัวจ่ายจะดูดน้ำมันที่ปนตะกอนออกมาด้วย และเข้าไปในถังน้ำมันรถคุณ ตะกอนเหล่านี้ส่งผลให้ปั๊มน้ำมันเชือเพลิงในของรถคุณ รวมถึงไส้กรองอุดตันง่ายขึ้น และหากหลุดรอดออกไปที่ระบบหัวฉีดจ่ายน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้ อาจทำให้หัวฉีดอุดตัน เครื่องยนต์มีอาการสะดุด และเสียหายได้ในระยะยาวค่ะ

9. หาสถานีบริการน้ำมันแบบเติมเอง 

สถานีบริการน้ำมันแบบเติมเองจะมีราคาน้ำมันฯ มักจะถูกกว่าปั๊มทั่วไปประมาณ 15-30 สตางค์ต่อลิตร และคุณก็สามารถเติมแบบไม่รีบร้อน ปล่อยให้ค่อยๆ ไหลช้าได้ตามต้องการ เมื่อหัวจ่ายตัดเราก็ค่อยๆ ดึงหัวจ่ายออกจากช่องเติมช้าๆ ได้ ปล่อยใหน้ำมันหยุดไหลเองก่อนจะเก็บหัวจ่ายเข้าตู้จ่าย อย่างน้อยได้เพิ่มอีกสัก 7-10 หยดแล้วรีบปิดฝาถังทันทีค่ะ

10. เลือกสถานีบริการน้ำมันที่ได้มาตรฐาน 

เลือกเติมน้ำมันจากสถานีบริการที่ได้มาตรฐาน และมีตราตรวจสอบคุณภาพกับปริมาตรน้ำมันจากสำนักคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบควบคุมคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในประเทศ ตั้งแต่คลังน้ำมัน จนกระทั่งถึงสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันให้แก่ผู้บริโภค และที่สำคัญต้องมีเครื่องหมายการตรวจสอบมิเตอร์วัดปริมาณการไหลจากกรมสรรพสามิต และต้องได้รับคำรับรองจากสำนักชั่งตวงวัด ตามพระราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2551 เพื่อแสดงว่าผ่านการวัดปริมาตรอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายในราคาถูกจนผิดปกติ เพราะอาจเป็นน้ำมันปลอม ปนสารอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับชนิดน้ำมันนั้นๆ ทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้นะคะ

เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับน้ำมัน

ลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน

1. ค่าออกเทน คือ ค่าความต้านทานการจุดระเบิดของน้ำมันเบนซิน ถ้าค่าออกเทนสูง หมายความว่าจะมีความต้านทานการน็อคของเครื่องยนต์สูง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความแรงของเครื่องยนต์  ซึ่งรถยนต์แต่ละรุ่นจะถูกออกแบบให้รองรับค่าออกเทนได้แตกต่างกันไป ดังนั้นแล้วจึงควรเลือกเติมน้ำมันที่มีค่าออกเทนให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ของคุณ เพราะค่าออกเทนของเชื้อเพลิงจะส่งผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์ ดังนั้นจึงไม่ควรเติมน้ำมันที่มีค่าออกเทนสูงกว่าที่เครื่องยนต์ เพราะจะทำให้มีการเผาไหม้ช้ากว่า อีกทั้งยังสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ในขณะเดียวกัน หากใช้น้ำมันที่มีค่าออกเทนต่ำกว่าค่ามาตรฐานของเครื่องยนต์จะทำให้เกิดปัญหาเครื่องยนต์เดินสะดุด หรือเกิดการน็อคได้ เพราะค่าออกเทนที่ต่ำจะมีการเผาไหม้เร็วกว่า ทำให้เชื้อเพลิงที่ใช้เผาไหม้หมดไปก่อนที่ลูกสูบจะเคลื่อนตัวไปถึงจุดสูงสุด ส่งผลให้เครื่องยนต์เดินไม่เรียบ เกิดการสะดุดได้

2. อัตราการระเหย เป็นคุณสมบัติที่บ่งบอกว่าน้ำมัน มีองค์ประกอบส่วนหนักเบาอย่างไร จะถูกเผาไหม้ได้ในลักษณะใด ต่อเนื่องแค่ไหน เช่น ถ้ามีส่วนเบาน้อย จะจุดสตาร์ตยาก ถ้าน้ำมันค่อยๆ ระเหยอย่างสม่ำเสมอ เมื่อค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นการเผาไหม้ก็จะต่อเนื่องดี เครื่องยนต์ก็จะเดินได้ราบเรียบ ดังนั้นอัตราการระเหยของน้ำมันจึงมีผลต่อการสตาร์ตของเครื่องยนต์ การเร่งเครื่องยนต์ และการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง

3. ปริมาณสารเบนซิน เบนซินเป็นสารจำพวกอะโรเมติกส์ มีค่าออกเทนสูง แต่มีพิษต่อระบบทางเดินหายใจ และสมอง การสูดดมสารนี้เป็นระยะเวลานานๆ อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

4. ปริมาณสารอะโรมาติกส์ สารอะโรเมติกส์มีค่าออกเทนสูง สารอะโรเมติกส์บางตัว เช่น เบนซิน โพลีไซคลิกอะโรเมติกส์ก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้การเผาไหม้น้ำมันที่มีสารอะโรเมติกส์สูงจะมีเขม่าปริมาณสูงและหากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะเกิดไอเสียที่มีสารอะโรเมติกส์ด้วย

ลักษณะและคุณสมบัติของน้ำมันดีเซล 

1. การติดไฟ คุณสมบัติการติดไฟบ่งบอกความสามารถในการติดเครื่องยนต์ที่อุณหภูมิต่ำ และการป้องกันการน็อคในเครื่องยนต์ระหว่างการเผาไหม้เชื้อเพลิงภายในกระบอกสูบ ลักษณะการเผาไหม้ เช่นเผาไหม้เร็ว เผาไหม้มีประสิทธิภาพสูงเหล่านี้แสดงออกมาเป็นตัวเลขของดัชนีซีเทน หรือซีเทนนัมเบอร์ค่าซีเทน ควรให้สูงพอกับความเร็วรอบของเครื่องยนต์ ซึ่งจะทำให้ติดเครื่องยนต์ง่ายไม่น็อค และประหยัดการใช้น้ำมัน

2. การกระจายตัวเป็นฝอย ความหนืด หรือความข้นใส เป็นตัวกำหนดลักษณะของการกระจายตัวของน้ำมันดีเซล ความหนืดที่พอเหมาะทำให้น้ำมันน้ำมันกระจายเป็นฝอยดี ความหนืดของน้ำมันดีเซลยังมีผลต่อระบบการปั๊มน้ำมัน เพราะในขณะที่ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ตัวน้ำมันก็จะทำหน้าที่หล่อลื่นลูกสูบปั๊มไปในตัวด้วย

3. ปริมาณกำมะถัน ปริมาณกำมะถันในน้ำมันชนิดใดๆ ที่สูงเกินไป เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา การกัดกร่อนของกำมะถันในน้ำมันมีด้วยกัน 2 ลักษณะ ลักษณะแรกเกิดจากการกัดกร่อนภายหลังการเผาไหม้ สารประกอบของกำมะถัน เมื่อถูกเผาไหม้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ซึ่งเมื่อรวมกับน้ำจะเป็นสารละลายที่มีฤทธิ์เป็นกรด และกัดกร่อนชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ได้ ลักษณะที่สอง เกิดจากกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงโดยตรง คือน้ำมันจะกัดกร่อนชิ้นส่วนของระบบหัวฉีดเครื่องยนต์ดีเซล กำมะถันในน้ำมันดีเซลจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมันดิบ และกระบวนการกลั่นที่ใช้สารประกอบกำมะถันที่มีคุณสมบัติกัดกร่อน จะอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เมอร์แคปแทน ไดซัลไฟด์หรือสารประกอบเฮเตอร์โรไซคลิก เช่น ไธโอเฟน (thiophen)

วิธีการปลอมปนน้ำมัน

น้ำมันปลอม คือ น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่กำหนด ซึ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงผู้ค้าน้ำมันบางแห่งได้นำสารอื่นมาปลอมปนในน้ำมัน เพื่อลดต้นทุนทำให้น้ำมันไม่ได้มาตรฐาน และบางแห่งนั้นมีการปลอมน้ำมันเพื่อหวังผลกำไร โดยการนำน้ำมันที่มีราคาต่ำมาขายเป็นน้ำมันที่มีราคาแพงกว่า

ผู้ค้าน้ำมันในสถานีบริการบางแห่งมักหาวิธีที่เอาเปรียบผู้บริโภคด้วยวิธีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเติมน้ำลงในน้ำมันเพื่อเพิ่มปริมาณ แต่น้ำนั้นไม่สามารถผสมเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำมันได้จึงสังเกตได้ง่าย ต่อมาจึงได้มีการผสม solvent ลงไปในน้ำมันดีเซล หรือเบนซิน ซึ่ง solvent มีคุณสมบัติคล้ายน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันก๊าดสามารถละลายได้ดีในน้ำมันจึงไม่สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ เพราะ solvent ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวทำละลายสิ่งอื่นๆ เช่น ละลายสีหรือกาว เป็นต้น การปลอมปน solvent นั้นไม่มีสัดส่วนที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ค้ารายใดต้องการกำไรมากก็อาจเติมในสัดส่วน 1:1 ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงกับเครื่องยนต์ได้ และอีกกรณีหนึ่งที่ผู้ค้ามักกระทำคือการนำน้ำมันดีเซลบี 5 มาจำหน่ายเป็นดีเซลธรรมดา หรือนำน้ำมันแก๊สโซฮอล์มาปลอมปนในน้ำมันเบนซิน 91 ที่มีราคาแพงกว่าซึ่งกรณีดังกล่าวตรวจพบมากขึ้น ดังนั้นกรมธุรกิจพลังงานจึงออกมาตรการป้องกัน และแก้ไขการปลอมปนน้ำมัน อีกทั้งการกำกับคลังน้ำมัน เพื่อป้องกันการนำน้ำมันเติมสีออกจากคลัง, การปรับโครงสร้างสีน้ำมัน เพื่อให้สังเกตเห็นความแตกต่างของสีน้ำมันที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนสีของน้ำมัน แสดงรายละเอียดดังตาราง

           สำนักคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงาน มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบควบคุมคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในประเทศ ตั้งแต่คลังน้ำมันไปจนถึงสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันให้แก่ผู้บริโภค และได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่าย ณ สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ทุกจังหวัด โดยส่งหน่วยตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเคลื่อนที่ออกตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน สถานีบริการทั่วประเทศ รวมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในส่วนภูมิภาคจัดเก็บตัวอย่างน้ำมันส่งมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการส่วนกลางอย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบว่าสถานีบริการน้ำมันรายใดจำหน่ายน้ำมันที่มีคุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐานตามที่กฎหมายประกาศกำหนด ก็จะพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภครายใดไปเติมน้ำมันจากสถานีบริการน้ำมันใดแล้ว พบว่าเครื่องยนต์ขัดข้อง สงสัยว่าน้ำมันจะมีคุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐาน ให้แจ้งได้ที่ สำนักคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง โทร. 02-547-4324 – 5 หรือสำนักงานพลังงานพลังงานภูมิภาคในเขตต่างๆ ที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้นๆ เพื่อจะได้ดำเนินการจัดเก็บตัวอย่างน้ำมันจากสถานีบริการน้ำมันนั้นมาตรวจสอบคุณภาพต่อไป

การเติมน้ำมันแต่ละครั้ง มีทั้งผลดี และผลเสียมากกว่าที่คุณคิด ดังนั้นคิดสักนิดก่อนเติมทุกครั้ง เพื่อให้คุณได้รับทั้งคุณภาพของน้ำมัน ราคา จำนวนลิตรที่ได้ และการใช้พลังงานอย่างมีคุณค่ามากที่สุดค่ะ 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  checkraka.com

บทความล่าสุด

ข่าวล่าสุด