สวดมนต์เป็นประจำเพื่อฝึกสติ สมาธิ ปัญญา

สำหรับสวดพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นคำสวดพระโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ การที่ชาวพุทธสวดมนต์ก็เพื่อเป็นการทบทวนพระโอวาท ที่เป็นข้อธรรมะ เมื่อใครได้ทบทวนข้อธรรมะของพระองค์ ก็ได้ชื่อว่า

        ๑. เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดของมนต์
        ๒. เคารพในพระธรรม เพราะข้อความที่สวดเป็นธรรมะ
        ๓. เคารพในพระสงฆ์ เพราะบทสวดมนต์ได้ถ่ายทอดมาโดยพระสงฆ์

        สิ่งที่เราเคารพ 3 อย่างนี้ รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย การเคารพพระรัตนตรัยมีอานิสงส์ทำให้เรามีโอกาสสร้างบุญได้ต่อไป แม้ขณะที่กำลังสวดมนต์ ผลบุญก็เกิดขึ้นเป็นลำดับๆ แล้ว ตั้งแต่ขณะสวดมนต์ ร่างกายของเราอยู่ในอาการอันสงบ สำรวม ศีลก็ไม่ขาด พอจิตใจสงบ ก็เป็นสมาธิ(Meditation)ได้เร็ว
เมื่อทบทวนธรรมะ ปัญญาก็งอกงามไปตามลำดับๆ ได้ อานิสงส์ทางปัญญา ตกลงได้ครบทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอุปกรณ์เป็นพาหนะนำไปสู่การสร้างบุญ สร้างคุณงามความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ยิ่งกว่านั้นผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ ยังเป็นผู้ที่มีโอกาสพิจารณาตนเองได้มาก ไม่วู่วาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ จะมีอานิสงส์ให้พ้นภัยทั้งปวง เนื่องมาจากใจที่สงบของเขา ใจที่เกาะอยู่ในธรรมจะสะอาดและใสมาก เมื่อจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับตัว แม้จะหาเหตุผลไม่ได้ แต่จะเกิดการสังหรณ์ล่วงหน้า เพราะใจสัมผัสได้เร็ว ทำให้เตรียมตัวรับสถานการณ์ต่างๆ ได้ฉับพลัน

        ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ เทวดาจะลงรักษา เพราะเทวดาก็อยากได้บุญ เป็นการต่ออายุให้อยู่บนสวรรค์ได้นานๆ คนที่เทวดาลงรักษา จะทำอะไรก็เจริญรุ่งเรือง และคิดจะทำแต่ความดี ทำแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศล นี่แหละคืออานิสงส์โดยย่อของการสวดมนต์ ซึ่งอธิบายในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)

ประโยชน์ของการสวดมนต์ ไหว้พระ

  ๑. จะทำให้ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้มีความรู้สึกละอายแก่ใจและเกรงกลัวต่อการทำชั่ว ถ้าสวดมนต์พร้อมคำแปลจะทำให้เข้าใจคำสอนไปด้วย

  ๒. เป็นการฝึกสมาธิ คือ ให้ใจมีความสงบตั้งมั่นอยู่กับคำสวดมนต์อย่างต่อเนื่อง

  ๓. ฝึกให้มีสติ เห็นหรือรู้เท่าทันอาการของจิต หรือกิริยาของจิต หรือพฤติแห่งจิตที่แสดงออกมาเป็นความคิด นึก ตรึก ตรอง ปรุงแต่งและอารมณ์ต่างๆ แทรกคำสวดมนต์เป็นระยะๆ

  ๔. มีปัญญาเห็นว่า ถ้าขาดสติเผลอเพลินติดไปกับความคิด นึก ตรึก ตรอง ปรุงแต่งอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นก็จะทำให้ลืมคำสวดมนต์และจะทำให้เกิดทุกข์ ถ้ามีสติ สมาธิ ปัญญารู้เท่าทัน ก็จะไม่เผลอเพลินติดไปกับสิ่งใดให้ใจเป็นทุกข์ เรียกว่า เห็นอริยสัจจ์

  ๕. ฝึกสติ สมาธิ ปัญญา รู้คำสวดมนต์ควบคู่ไปกับรู้ความ คิด นึก ตรึก ตรอง ปรุงแต่งและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดแทรกคำสวดมนต์ได้ทุกความคิดอย่างต่อเนื่อง โดยรู้อยู่กับที่ไม่เผลอเพลินติดไปเลย แล้วจะรู้หรือเห็นจิตที่คิด นึก ตรึก ตรอง ปรุงแต่ง และอารมณ์ต่างๆ นั้นเกิดขึ้นดับไปๆ ๆ เป็นการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำให้ไม่ขาดสติเผลอเพลินติดไปกับความรู้สึก นึก คิด ตรึก ตรอง ปรุงแต่งและอารมณ์ใดเลย ก็จะพ้นทุกข์

            ต่อไปในชีวิตประจำวัน เมื่อทำงานก็ฝึกให้มีสมาธิอยู่กับการทำงานหรือเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ของร่างกาย เช่น การเดิน การนั่ง แทนคำสวดมนต์ พร้อมกับมีสติปัญญารู้หรือเห็นจิตที่นึก คิด ตรึก ตรอง ปรุงแต่งแทรกการทำงาน หรือการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ของร่างการเกิดดับในขณะปัจจุบันตลอดเวลา ครั้นเมื่อว่างจากการทำงานหรือกิจกรรมที่ทำ ก็ให้มีสมาธิอยู่กับคำสวดมนต์พร้อมกับมีสติปัญญารู้หรือเห็นจิตที่คิด นึก ตรึก ตรอง ปรุงแต่งแทรกคำสวดมนต์เกิดดับในขณะปัจจุบันนั้นตลอดเวลา ถ้าฝึกได้ดั่งนี้ก็จะเป็นผู้มีสติ สมาธิ ปัญญา อย่างต่อเนื่องไม่เผลอเพลินขาดสติให้ใจไปเกาะเกี่ยวสิ่งใดจนเป็นทุกข์

ข้อสังเกต

            ถ้ารู้เรื่องที่คิดไม่ใช่รู้จิตหรือรู้ใจ แต่รู้ธรรมารมณ์ คือ สิ่งใดหรือเรื่องราวใดๆ ที่จิตหรือใจคิดไปถึง และแสดงว่าเพลินใจติดไปกับความคิดนั้นแล้ว แต่ถ้ารู้จิตที่แสดงอาการคิด ซึ่งเป็นความไหวตัวหรือกระเพื่อมตัวของจิต เรียกว่ารู้จิตหรือเห็นจิตที่แสดงอาการ หรือแสดงกิริยา หรือแสดงพฤติแห่งจิต

            แต่ในการฝึกตอนแรกๆ จะรู้เรื่องที่คิดยาวๆ ก่อน ต่อไป เมื่อรู้ตัวเร็วขึ้น เรื่องที่คิดก็จะสั้นลงไปเรื่อยๆจนถึง “ใจ” ซึ่งเป็นต้นจิตที่คิด ที่แสดงกิริยา หรือแสดงอาการ หรือความคิด นึก ตรึก ตรอง ปรุงแต่งและอารมณ์ต่างๆ ล้วนออกมาจาก “ใจ” ซึ่งเรียกว่า ต้นจิต หรือ จิตต้น จึงทำให้มีสติปัญญาตั้งที่ใจ รู้อยู่ที่ใจ หรือรู้อยู่กับที่ที่ใจ ก็สามารถรู้ตั้งแต่คิด หรือต้นจิตที่แสดงกิริยาหรืออาการคิด

            ต่อจากนั้นก็ฝึกสติปัญญาให้รู้ตั้งแต่ต้นจิตหรือต้นคิดอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย โดยให้รู้ควบคู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ใช้เป็นเครื่องล่อจิตตลอดเวลา เช่น รู้ควบคู่กับคำสวดมนต์ หรือคำบริกรรมหรือลมหายในข้าออก หรืออิริยาบถของกาย หรืองานที่กำลังทำอยู่ ก็จะไม่ขาดสติเผลอเพลินไปกับสิ่งใดให้ใจเป็นทุกข์


ขอขอบคุณ หนังสือ “ปฏิบัติธรรม” เล่มที่ ๑ โดย ชมรมผู้ปฏิบัติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม

บทสวดธรรมจักรกัปปวัตสูตรพร้อมนั่งสมาธิ คลิกที่นี่

บทความล่าสุด

ข่าวล่าสุด